ทำไมการศึกษาใน Finland ถึงขึ้นครองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ที่ฟินแลนด์อาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีเกียรติ คนส่วนใหญ่ที่ฟินแลนด์ตั้งใจอยากเป็นครู เพราะครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากแพทย์หรือทนายความ ฉะนั้นคนที่เก่งๆ ของประเทศจะแข่งขันกันที่จะได้เป็นครู นอกจากนั้นระบบการศึกษาในฟินแลนด์ยังกำหนดให้อาจารย์ประจำชั้นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนอาจารย์ประจำวิชาจะต้องจบการศึกษาในคณะวิชาที่สอนก่อน และจึงมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโทในคณะศึกษาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดพิเศษสำหรับครูการศึกษาพิเศษและครูแนะแนว ที่ต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษและการแนะแนวอีกด้วย

นอกจากนั้นประเทศฟินแลนด์เน้นการเรียนในรูปแบบที่ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น” และต้องการให้เด็กเป็นศูนย์กลางโดยแท้จริง หรือที่เรียกว่า Child-centered ที่ให้ความยืดหยุ่นสูง นอกจากนั้นก็ได้ออกแบบระบบการศึกษาที่เรียกว่า Phenomenon-Based Learning (PBL) ที่เป็นการเรียนจากหัวข้อหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เป็นการเรียนในลักษณะของโครงงานที่นักเรียนให้ทำงานเป็นกลุ่มและมีเนื้อหาการเรียนครอบคลุมหลายวิชา โดยที่ไม่ได้มุ่งเน้นศึกษาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าการเรียนเพื่อไปสอบและต้องพัฒนาเด็กไปพร้อมๆ กันมากกว่าจะแข่งขันกันเอง

ในระดับอนุบาลประเทศฟินแลนด์จะเน้นให้เด็กได้ใช้เวลากับครอบครัวมากกว่าการเรียน นั่นเป็นเพราะว่าครอบครัวจะมอบความรัก ความรู้ สร้างสิ่งที่ดีงาม และถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณีให้กับเด็กๆ ได้ดีกว่าที่โรงเรียน โดยที่ฟินแลนด์จะมีการเปิดรับนักเรียนตั้งแต่วัยเด็ก 8 เดือน – 5 ปีด้วยเหมือนกัน แต่จะเรียกว่า “Daycare” ซึ่งโรงเรียนที่จะรับนักเรียนได้ต้องมีสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นกัน นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเข้าไปเล่นกับลูกๆ ได้ หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่อยากส่งลูกไปที่ Daycare ก็สามารถที่จะจัดบ้านตัวเองให้เป็น Daycare ได้และทางเทศบาลเมืองจะจ่ายเงินสนับสนุนให้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พ่อแม่ได้เลี้ยงดูลูกๆ ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองที่รับเงินมาแล้วจะสามารถเลี้ยงดูลูกแบบไม่สนใจ ปล่อยปละละเลยได้ เพราะทางเทศบาลจะมีการสุ่มตรวจอยู่ตลอดว่าผู้ปกครองดูแลเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

ฟินแลนด์จะเน้นเรียนน้อยๆ เพื่อที่ให้เด็กได้แบ่งเวลาไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เด็กในวัยประถมที่ฟินแลนด์ จะเรียนไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะที่ฟินแลนด์เชื่อว่าเด็กในวัยนี้ควรมีเวลาในการทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจมากกว่าการมาเรียนอยู่ในห้องเรียนทั้งวัน และที่สำคัญฟินแลนด์จะจำกัดจำนวนเด็กในชั้นเรียนให้น้อย เพื่อสะดวกให้ครูดูแลอย่างทั่วถึง โดยที่กำหนดให้มีนักเรียนห้องละ 12 คน สูงสุดไม่เกิน 20 คน เพื่อง่ายต่อการดูแล และได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิดระหว่างคุณครูและนักเรียน เพราะจะเน้นการพัฒนาความสามารถของเด็กๆ ให้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

การศึกษาที่ฟินแลนด์ไม่เน้นเกรดเฉลี่ย เพราะประเทศฟินแลนด์เห็นว่าการเรียนไม่ใช่การแข่งขัน หรือเป็นตัวแบ่งแยกความภาคภูมิใจ หรือสร้างความอับอายให้แก่นักเรียน ดังนั้นจึงเน้นการเรียนที่เป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่าการได้เกรดเฉลี่ยดีๆ นั่นทำให้เด็กๆได้โฟกัสที่การเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากกว่า และสามารถทำให้พวกแสดงตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจนว่าชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร

ฟินแลนด์ไม่มีการสอบวัดระดับของส่วนกลาง เพราะแต่ละโรงเรียนในฟินแลนด์มีจุดประสงค์และเป้าหมายในการให้ความรู้และพัฒนาเด็กๆ ที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้ข้อสอบมาตรฐานมาเป็นตัวชี้วัดผลคะแนนได้

โรงเรียนที่ฟินแลนด์จะบริหารอย่างมีคุณภาพเพื่อประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด โดยจะจ้างผู้อำนวยการจากภายนอกโรงเรียนมาบริหารงาน และให้กรรมการโรงเรียนดูแล ซึ่งถ้าผู้อำนวยการมีผลงานที่ไม่ดีก็ต้องเชิญออกได้ จะไม่ใช้ระบบราชการหรืออายุราชการในการคัดเลือกคนเข้ามาบริหารโรงเรียน และจะไม่ใช้อาจารย์ในสถาบันมาเป็นผู้บริหาร ด้วยความที่เขาเชื่อว่าจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถในการบริหารจริงๆ เพราะการที่สอนเก่ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเก่งในเรื่องการบริหารด้วย

ค้นคว้าเรียบเรียงโดย 
ทีมแนะแนว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่างประเทศตั้งแต่ปี 1985
เรียนต่อโปแลนด์ ฟินแลนด์ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา สหรัฐ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์
สมาชิกสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ (TIECA) สมาชิกหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Thai) และได้รับการรับรองโดย FELCA (The Federation of Education and Language Consultants Association) และ GSM Global Student Mobility

Recent posts